เข้าใจหน้าจอ ให้ละเอียดความถี่ สำหรับหน้าจอแสดงผลของอุปกรณ์ไอทีที่เราใช้งานส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอทีวี หรือหน้าจอสมาร์ทโฟนเราจะดูสเปคหน้าจอกันอยู่ 2 ส่วนหลักๆ คือ

1. ความละเอียดของจอ (Pixel)
บนหน้าจอแสดงผลที่เราใช้งานในปัจจุบันจะมีส่วนสำคัญคือ “พิกเซล” ใน 1 พิกเซลที่มีขนาดเล็กนั้นทำหน้าที่กำเนิดแสงสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน หรือที่เรียกว่า RGB ถ้าไม่แสดงสีก็จะเป็นสีดำ ทีนี้เราก็เอาจำนวนพิกเซลเหล่านี้มาเรียงต่อกันบนหน้าจอแสดงผลยิ่งมีพิกเซลมากก็จะแสดงสีสันออกมาได้สมจริงมากขึ้น ซึ่งเราจะเรียกว่าความละเอียดของหน้าจอ

ในส่วนของความละเอียดหน้าจอผู้ผลิตจะระบุจำนวนพิกเซลไว้ชัดเจน เช่น 1920 x 1080 พิกเซล อธิบายเพิ่มเติม ตัวเลขแรก 1920 คือจำนวนพิกเซลที่วางเรียงในแนวขวางจากซ้ายไปขวา ที่มีทั้งหมด 1920 พิกเซล ส่วนตัวเลขหลัง 1080 คือจำนวนพิกเซลที่วางไว้ในแนวตั้งจากบนลงล่าง เมื่อนับรวมกันแล้ว หน้าจอนี้จะมีจำนวนพิกเซลที่สามารถแสดงสีต่างๆ ได้ทั้งหมด 1920 x 1080 = 2,073,600 พิกเซลนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันทางผู้ผลิตจะพัฒนาให้หน้าจอของตนเองมีความละเอียดสูงๆ เพื่อให้มีความสมจริง ไม่ว่าจะเป็นความละเอียด 2560 x 1440 พิกเซล หรือ 3840 x 2160 พิกเซล เมื่อนับรวมกันแล้วจะมีพิกเซลบนหน้าจอมากถึง 8,294,400 พิกเซล แต่ถ้าจะให้ผู้ใช้งานทั่วไปมานั่งจำตัวเลขเหล่านี้ก็ดูจะเป็นการยากไปหน่อย ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามจะสื่อสารกับคนทั่วไปให้เข้าใจให้ง่ายๆ ด้วยการเรียกแบบนี้
1280 x 720 = ความคมชัดระบบ HD (720p)
1920 x 1080= ความคมชัดระบบ Full HD (1080p)
2560 x 1440 = ความคมชัดระบบ 2k
3840 x 2160 พิกเซล= ความคมชัดระบบ 4k หรือ Ultra HD (UHD)
5120 × 2880 พิกเซล= ความคมชัดระบบ 5k
6144×3160 พิกเซล= ความคมชัดระบบ 6k
7680×4320 พิกเซล= ความคมชัดระบบ 8k

2. ความถี่ของหน้าจอ (Hz)
ใน 1 ภาพที่เราเห็นบนหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นจอทีวี จอคอมพิวเตอร์ หรือ จอโทรศัพท์มือถือเองก็ตามไม่ได้แสดงภาพนิ่งๆ เหมือนเราดูภาพวาด แต่จะมีการกระพริบของหน้าจอที่รวดเร็วมาก จนสายตาคนเราทั่วไปแยกไม่ออกว่ามีการกระพริบ เพราะในข้อมูลเชิงลึกแล้วการทำงานของจอแสดงผลจะกระพริบด้วยความถี่ประมาณ 60 ครั้งใน 1 วินาที ความถี่นี้จะอ้างอิงจากระบบการทำงานของชินส่วนอิเลคทรอนิกส์ที่ซ่อนอยู่ใต้แผงหน้าจอนั่นเองที่ทำหน้าที่ส่งกระแสไฟฟ้าให้กับแหล่งกำเนิดแสง (ในที่นี้คงไม่ได้ลงรายละเอียดนะครับเพราะจะยาวเกินไป) เพราะฉะนั้นภาพที่ประกอบไปด้วยจำนวนนับล้านพิกเซลนั้นจะแสดงผลออกมาติดๆ กันถึง 60 ครั้งต่อวินาทีเลยทีเดียว ซึ่งเราจะระบุว่าจอรุ่นนี้มีความถี่ 60 Hz (เฮิร์ต) นั่นเอง แน่นอนว่าคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนที่สามารถสร้าง หรือผลิตภาพที่มีขนาดล้านพิกเซลในเวลาเพียง 1 วินาทีนั้นจะต้องมีการประมวลผลที่รวดเร็วมาก เท่านั้นยังไม่พอ จอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนที่ออกแบบมาสำหรับเล่นเกมนั้น จะมีอัตราความถี่ที่มากกว่า 60 เฮิร์ต ขึ้นไปอีก คือมีทั้ง 90 เฮิร์ต, 100 เฮิร์ต, 120 เฮิร์ต, 144 เฮร์ต ไปจนถึง 240 เฮิร์ตก็มี ก็ลองจินตนาการว่าใน 1 วินาทีนั้นคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนต้องประมวลผลแล้วสร้างภาพด้วยจำนวนหลายล้านพิกเซลขึ้นมาถึง 120 หรือ 240 ภาพกันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเร็วสุดๆ

ถ้าใครอยากลองทดสอบว่าสายตาตัวเองนั้นแยกออกจริงมั้ย ลองเปิด YouTube ดูระหว่างคลิปทั่วไป กับคลิปที่อัพโหลดแบบ 60 FPS ลองดูนะครับว่าให้ภาพที่สมูทไหลลื่นต่างกันจริงมั้ย?
สรุป
มาถึงตรงนี้เราพอจะบอกว่าได้ความละเอียดของหน้าจอนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของพิกเซล ยิ่งมากยิ่งแสดงจำนวนสี และรายละเอียดต่างๆออกมาได้สมจริงมากขึ้น ส่วนความถี่ที่มีหน่วยเป็นเฮิร์ต (Hz) นั้นจะเป็นการกระพริบของหน้าจอ ยิ่งกระพริบเร็วก็จะเป็นการถ่ายทอดของภาพนับล้านพิกเซลออกมาได้ต่อเนื่องและราบรื่น ทำให้เราดูได้สบายตา ดูได้เป็นธรรมชาตินั่นเอง ส่วนการที่จะแสดงผลได้ต่อเนื่องดีขนาดไหนนั้น ตรงนี้จะต้องย้อนไปถึงต้นทางยังจุดเริ่มต้นประมวลผลและคำนวณตัวเลขออกมาให้เป็นภาพแล้วค่อยส่งออกไปยังจอแสดงผล นั่นก็คือซีพียู หรือ GPU บนอุปกรณ์ของแต่ละรุ่นนั่นเอง